เมื่อครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ได้ถูกรุกรานจากเหล่าชาติมหาอำนาจทั้งหลาย พม่าเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับความเสียหายทั้งทางด้านวัตถุและด้านจิตใจจากสงครามโลกครั้งที่สองนี้ สถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้าง และงานศิลป์อันทรงคุณค่าทั้งหลายแหล่ล้วนถูกมอดไหม้ไปด้วยไฟสงคราม ครั้นเมื่อสงครามสิ้นสุดลงสิ่งเดียวที่เหลือไว้ในมัณฑะเลย์ ราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่าก็คือ วิหารชเวนันดอว์ (Shwenandaw) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่แสดงถึงร่องรอยความเจริญทางวัฒนธรรมของประเทศพม่าจวบจนถึงปัจจุบันนี้
"ชเวนันดอว์" แปลว่าพระที่นั่งทอง สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญาผู้ก่อตั้งราชธาณีมัณฑะเลย์ แต่เดิมที่แห่งนี้เป็นพระราชมณเฑียรในเขตพระราชวังมัณฑะเลย์ โดยพระเจ้ามินดงได้ใช้พระตำหนักชเวนันดอว์นี้เพื่อเป็นพระที่นั่งทรงธรรมของพระองค์ เมื่อพระเจ้ามินดงได้สิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าสีป่อซึ่งเป็นพระโอรสได้สืบทอดราชสมบัติต่อก็โปรดให้ย้ายพระตำหนักชเวนันดอว์แห่งนี้ไปประกอบขึ้นใหม่ในเขตวัด นอกพระราชวังในช่วง ค.ศ.1880 ตามพระประสงค์ของพระเจ้ามินดง และเรียกตำหนักนี้ว่า วัดชเวนันดอว์ หรือ วัดมณเฑียรทอง จากการย้ายที่ตั้งนี้ทำให้วัดชเวนันดอว์รอดพ้นจากการถูกทำลายโดยการทิ้งระเบิดลงที่พระราชวังมัณฑะเลย์และจากเพลิงไหม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุนี้เองวัดชเวนันดอว์แห่งนี้จึงเป็นสถาปัตกรรมแห่งเดียวของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่เหลือรอดให้เราได้ชมความวิจิตรงดงามจนถึงปัจจุบันนี้
วัดชเวนันดอว์สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังและใช้ทองคำหุ้มตัววัดไว้ แม้ว่าปัจจุบันทองคำจะหลุดลอกออกไปเกือบหมดตามกาลเวลา โดยเฉพาะด้านนอกตัวอาคาร แต่ก็ยังคงมีบางพื้นที่ที่พอจะให้เราเห็นอยู่บ้างเช่นบริเวณของเพดานเท่านั้น ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดชเวนันดอว์คือการบรรจงแกะสลักลวดลายทั่วตัวอาคารทั้งภายนอกและภายในของช่างหลวงมัณฑะเลย์ เป็นการสร้างสรรค์ลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม อีกหนึ่งความตระการตาของวัดชเวนันดอว์แห่งนี้คือลักษณะหลังคาทรงปราสาทห้าชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์และความปราณีตของช่างชาวมัณฑะเลย์
วัดชเวนันดอว์นั้น ตั้งอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 น. - 20.00 น. สำหรับค่าเข้าชมอยู่ที่ 10,000 จั๊ตต่อคน ส่วนวิธีการเดินทางนั้น นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเครื่องบินมาลงยังสนามบินมัณฑะเลย์แล้วเดินทางต่อโดยสามารถเรียกใช้บริการรถรับจ้างเพื่อไปยังวัดชเวนันดอว์ ซึ่งรถโดยสารก็มีให้เลือกหลากหลายแบบตามความต้องการของนักท่องเที่ยว
แม้ว่าชเวนันดอว์จะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เหลือรอดจากการถูกทำลายในสครามโลกครั้งที่สอง แต่นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งพม่านั้นเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรมมากเพียงใด สิ่งที่เหลือไว้ยังคงทรงคุณค่าแก่ชาวพม่าและให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้มาสัมผัสความวิจิตรงดงามนี้ ความทรงจำแห่งมัณฑะเลย์ยังคงส่องประกายงดงามเสมอมา
Talk to Palm :)
อ้างอิง
AEC10NEWS. (2559). อนุสรณ์แห่ง... อดีต "วิหารชเวนันดอร์". สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จาก http://www.aec10news.com/ท่องเที่ยวอาเซียน/item/3680-อนุสรณ์แห่ง-อดีตวิหารชเวนันดอร์
KLAVEL-ON-KLAVEL-ON. (2016). ชเวนันดอว์ วิหารไม้สักทองอันงดงามแห่งมัณฑะเลย์. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จากhttp://www.kravel-on.com/shwenandaw/
Admin. (2013). เที่ยววัดชเวนันดอว์ วัดเก่าโบราณที่รอดจากสงคามโลกครั้งที่ 2. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จากhttps://travel.mthai.com/world-travel/72420.html
AmazingThailand. (2017). ย้อนรอยอดีต "ชเวนันดอว์" วิหารที่รอดพ้นจากไปสงคราม. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จากhttp://gothailandgoasean.tourismthailand.org/th/ย้อนรอยอดีต-"ชเวนันดอว์"-วิหารที่รอดพ้นจากไฟสงคราม
Editor.Mushroom travel. (2559). ทริปแสวงบุญ เที่ยวตามรอยFrom Bangkok to Mandalay. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จากhttps://www.mushroomtravel.com/page/bangkok-to-mandalay/
AUAU AAUU. (ม.ป.ป.). วิหารชเวนันดอว์ หนึ่งเดียวที่เหลือลอด. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 จากhttp://burma-travel.blogspot.com/2014/07/shwe-nandaw-kyaung.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น